ใบปิดหนังจะสวยงามอยู่คู่กับเราไปนานเท่านาน ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา..นั่นเอง
น้อง “ใบปิดหนัง” ที่เราได้มาจะมีหลายรูปแบบ คือ
ถ้าเป็นใบปิดหนัง ฝรั่ง ยุคเก่า จะถูกพับมา เมื่อได้มาแล้วควรกางออกมาก่อน จากนั้นจะม้วนใส่กระบอก
หรือวางราบกับพื้น โดยหากระดาษ หรือถุงพลาสติกเรียบๆวางเป็นพื้นล่างก่อน จากนั้นก็วางใบปิดหนังซ้อนทับกัน
นอกจากจะทำให้น้องใบปิด เรียบแล้วยังสามารถเปิดดูได้เมื่อเราคิดถึง
วิธีต่อมา มีงบประมาณมากขึ้น ก็ซื้อแฟ้มใส่ ซึ่งจะสามารถเก็บใบปิดได้ประมาณ 20 ใบ
การเก็บน้องใบปิดแบบนี้จะช่วยไม่ให้ขอบยับ และฉีกขาดจากการหยิบจับได้ สภาพสวยงามคงทน
หลายท่านที่เพิ่งเริ่มเก็บสะสมใบปิดหนัง หรือเก็บมานานแล้วก็ตาม เก็บทุกวัน ทุกเดือนก็จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะต้องมองหาสถานที่เก็บ ก่อนที่จะมีคนอื่นมาช่วยเก็บ (ถูกนำไปขายรถรับซื้อกระดาษ) หรือปลวก หนู มากัดกิน
วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บก็เพื่อดูแลน้องใบปิดหนังสุดหวงให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ยับ ไม่ขาด ให้มีความสมบูรณ์ของใบปิดหนังมากที่สุด เวลาหยิบมาดูก็จะชื่นใจ หรือในอนาคตจะนำไปให้ผู้ดูแลคนใหม่ก็จะได้ค่าขนมงามๆอีก
ครั้งนี้เลยขอมาแชร์การเก็บใบปิด เผื่อเป็นแนวทางให้กับอีกหลายๆท่าน
ซึ่งจริงๆแล้ว คาดว่าบางท่านก็ทราบวิธีการจัดเก็บเป็นอย่างดีอยู่แล้ว…
การเก็บใบปิดของผมจะแบ่งเป็น
1.Handbill ต่างประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น อันนี้ใส่แฟ้ม B5 ขนาด 8” x 10.5” สามารถเก็บได้ 80 เรื่อง หรือ ขนาด 9.5” x 12” เก็บของ เกาหลี สามารถจัดเก็บได้มากถึง 120 เรื่อง
2.ใบปิดหนัง แบ่งเป็น
2.1ใบปิดหนังไทย หรือใบปิดหนังต่างประเทศที่ผลิตในบ้านเรา จะที่มีขนาดประมาณ 21” x 31” โดยประมาณ ทั้งหมดนี้จะเก็บในแฟ้ม A1 ขนาด 24.5” x 34” สามารถใส่ได้ทั้งหมด 20 เรื่อง (มี 10 ช่อง ใส่หน้าหลังได้ 2 เรื่องต่อช่อง)
2.2ใบปิดไทย และใบปิดหนังต่างประเทศที่มีขนาด 27” x 40”
การเก็บแบบใส่กระบอกกระดาษ โดยต้องม้วนใบปิดใส่เข้าไป ถ้ากระบอกใหญ่ก็สามารถใส่ได้หลายใบ แต่มีข้อจำกัดคือ เวลาเรานำใบปิดเข้าไปเก็บ หรือออกมาดู ต้องระมัดระวัง และสภาพน้องใบปิดจะม้วนกว่าจะคลายตัวต้องใช้เวลา หรือหาอะไรมาวางทับ เช่นเดียวกับการใส่แฟ้มขนาดใหญ่ ขนาด 30” x 43” เก็บได้มาถึง 20 เรื่อง และอาจซื้อแฟ้มใส่เปล่าๆมาใส่เพิ่มอีก เวลาเปิดดูจะเห็นใบปิดสวยๆได้ และอยู่ในสภาพเดียวกับตอนเก็บเลย วิธีนี้ต้องใช้งบมากหน่อย
แต่ผู้ที่มีงบน้อย ก็มีวิธีเก็บง่ายๆคือ ซื้อถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ขนาด 30” x 50” มาใส่น้องใบปิด อาจแยกเป็นตัวอักษร ก็ได้ วางซ้อนทับกัน จะนำออกมาดูก็ง่าย และยังสามารถป้องกันขอบยับ และขาดได้
ถ้ามีงบประมาณ และมีพื้นที่คือทำเป็นตู้ มีชั้นหรือลิ้นชัก (เหมือนกับร้านเครื่องเขียน) โดยชั้นต่างๆแยกเรื่องด้วยตัวอักษร วางซ้อนทับกัน สะดวกแก่การค้นหา จะสามารถเก็บได้มากน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มี
**ที่สำคัญ ไม่ว่าจะจัดเก็บแบบไหน ขอให้เป็นพื้นที่ที่แห้ง ห่างไกลจากความชื้น และน้ำ
ขอให้มีความสุขกับการเก็บรักษา “น้องใบปิด” ให้อยู่กับเรานานๆ
By Posterman